![]() |
การคล้องช้างของชาวกูย
ในประเทศไทยมีการคล้องช้างหรือจับช้างป่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทรงช้าง เพื่อเป็นราชพาหนะใช้เดินทางในยามปกติและใช้ช้างในยามศึกสงคราม เรียก “สงครามยุทธหัตถี” ดังนั้น จึงมีการคล้องช้างเพื่อนำมาใช้ในราชการ โดยให้ข้าราชบริพารและบรรดาทหารมีการฝึกจับช้างป่า และใช้ช้างทำศึกสงครามอีกด้วย การคล้องช้างป่ามีวิธีการจับช้าง 3 วิธี
- จับช้างป่าทั้งโขลง คือการจับคราวละมากๆ ด้วยการทำคอกช้างขนาดใหญ่ แล้วไล่ต้อนโขลงช้างเข้ามาภายในคอก เรียกว่า “วังช้าง” ซึ่งได้ใช้วิธีนี้ในสมัยอยุธยา
- จับด้วยการทำเพนียด โดยต้อนช้างให้เข้าเพนียดทั้งโขลง จากนั้นก็เลือกเฉพาะช้างที่ต้องการ หากไม่ต้องการก็ปล่อยเข้าป่ากลับไป
- การจับช้างโดยหมอช้าง วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ความสามารถเฉพาะของบุคคล โดยการนำช้างที่ฝึกไว้ไล่ต้อนช้างป่า คล้องเท้าช้างด้วยบ่วงหรือเชือกปะกำ เรียกวิธีนี้ว่าการ “โพนช้าง” วิธีนี้เป็นวิธี ที่ชาวกูยนิยมใช้กันมาก มีพิธีกรรมและถ่ายทอดวิธีการสืบต่อกันมา
เดิมชาวกูยจะนิยมออกคล้องช้าง บริเวณชายแดนกัมพูชา บางครั้งเลยขึ้นไปถึงเขตจำปาศักดิ์ เพราะมีช้างชุกชุม อีกทั้งใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยจะคล้องช้างในเขตดงลาน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แต่ภูมิประเทศมีป่าทึบมากไม่เหมาะสมกับการไล่ติดตามช้าง การเลือกเวลาในการคล้องช้าง คือ ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยว
เครื่องมือคล้องช้างที่สำคัญ
การตระเตรียมความพร้อมหลังจากที่กำหนด การคล้องช้าง ชาวกูยจะเริ่มดูแลช้างเป็นพิเศษให้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จึงต้องบำรุงเลี้ยง และฝึกฝนซักซ้อมเป็นอย่างดี งดใช้งานเป็นเวลา 1 เดือน อีกทั้งคนที่จะออกคล้องช้าง นอกจากต้องเป็นคนกล้าหาญแล้ว ยังต้องรักษาตัวเองไม่ให้มีอันตรายเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะการคล้องช้าง แต่ละครั้งเป็นเวลานับเดือน วัสดุอุปกรณ์ก็ต้องได้รับการดูแล ซ่อมแซม หรือทำขึ้นใหม่ เพื่อให้มีสภาพใช้งานได้เป็นอย่างดี วัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว ได้แก่
- เชือกหนังปะกำ ถือว่าสำคัญที่สุด ทำจากหนังควายแห้ง 2-3 เส้น นำมาฟั่นเกลียว โดยทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 50-70 เมตร หนังปะกำนี้ ถือว่าเป็นที่สิงของดวงวิญญาณปู่ ย่า ตา ยาย ครูบาอาจารย์ ถือว่าเป็นเครื่องมือประจำตระกูลต้องปฏิบัติบูชาเป็นอย่างดี ผู้หญิงที่ไม่ใช่สายโลหิตห้ามแตะต้อง หากละเมิดถือว่าทำผิดปะกำ อาจทำให้เจ็บป่วยหรือเสียสติ วิกลจริตได้ เป็นบ่วงบาศใช้คล้องช้าง
- ทามคอ เป็นแอกหนังแห้งขนาดใหญ่ ทำจากหนังควายหรือหวายฟั่นเป็นเกลียว 6 เกลียวหรือ 8 เกลียว มีเงื่อนสำหรับรัดคอช้างป่า ทาม มี 2 เส้น สำหรับสวมคอช้างเส้นหนึ่ง อีกเส้นหนึ่งสำหรับผูกติดกับต้นไม้ ที่หูทามทั้งสองข้างมีโซ่โยงติดกับกาหรั่น เชื่อมหนังปะกำเป็นบ่วงบาศใช้คล้องเท้าช้าง
- กาหรั่น หรือเดือง เป็นห่วงเหล็กใหญ่และเล็กติดกัน 2 วง ใช้เป็นหัวต่อระหว่างทามคอกับห่วงโซ่ ใช้โยงทามทั้งสองที่ล่ามคอช้างเชลยไว้กับต้นไม้ ป้องกันไม่ให้โซ่ทามรัดคอช้าง
- สลก หรือชดก มีลักษณะคล้ายทามคอ ทำด้วยหนังควายแท้ๆ ฟั่นเป็นเกลียว 3 เกลียว และที่ปลายทั้งสองข้างทำเป็นห่วง ผูกปลายหนังปะกำไว้ป้องกันไม่ให้ช้างป่าหลุดหนีไปได้
- ชนัก ทำด้วยเหล็กบิดเป็นเกลียวคล้ายบังเหียนม้าต่อกันเป็นห่วงๆ 2-3 ท่อน ใช้เชือกป่านหรือปอเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ยาว 4-5 เมตร สอดห่วงทั้งสองผูกสวมกับคอช้าง สำหรับหมอช้างขึ้นขี่คอ อาศัยหัวแม่เท้าสอดคีบเชือกชนักเป็นหลักมั่นป้องกันการพลัดตก
- โยง หรือสายลำโพง เป็นเชือกหนังทำด้วยหนังควาย มีขนาดเท่าหนังปะกำมีไว้สำหรับล่ามช้างที่คล้องได้แล้ว โดยปลายข้างหนึ่งจะผูกติดไว้กับต้นไม้
- สนามมุก เป็นถุงขนาดใหญ่ถักด้วยป่าน หรือหนังมีหูรูดที่ปากถุง สำหรับใส่เสื้อผ้าและเครื่องใช้ประจำตัวของหมอช้างเมื่อออกไปคล้องช้าง
- ไม้งก เป็นไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะโค้งงอที่ปลายไม้ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเจาะรูร้อยเชือกสำหรับผูกกับมือมะหรือควาญช้างที่นั่งอยู่ท้ายช้าง เพื่อมิให้หลุดมือเมื่อเวลาตีท้ายช้าง สำหรับควาญช้างหรือมะใช้ตีเร่งช้างให้วิ่ง
- ไม้คันจาม เป็นไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 5 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว หมอช้างใช้สำหรับเหน็บเชือกปะกำที่เป็นบ่วงบาศยื่นออกไปคล้องเท้าช้างข้างใดข้างหนึ่ง
- สะเนงเกล หรือชัง เป็นเขาควายตากแห้งเจาะรูตรงกลาง และใช้ปากเป่าเหมือนปี่ หรือเครื่องเป่าอื่นๆ สำหรับเป่าเป็นสัญญาณให้แก่กันและกัน จะเป่าเมื่อได้ฤกษ์ก่อนออกจากบ้าน เป่าเมื่อออกตระเวนป่า ป้องกันการหลงป่าเวลากลางคืน และเมื่อเดินทางกลับก่อนถึงบ้าน
- ถุงกระเทียว หรือสะยาว เป็นถุงถักด้วยป่าน มีหูรูด ใช้สำหรับบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ประเภทหม้อข้าวหม้อแกง
- กระสอบหนัง หรือสะตอล์ ทำด้วยหนังวัวตากแห้ง เย็บเป็นถุงคล้ายกระสอบปุ๋ย ใช้สำหรับบรรจุข้าวสาร
- ปุนธง เป็นถุงเล็กๆ ถักด้วยป่าน สำหรับบรรจุสิ่งของประเภทหมากพลูบุหรี่ประจำตัวของใครของมัน โดยมีสายสะพายและมีหูรูด
- กระต่าสอง หรือตะกร้าสอง เป็นซองถักด้วยหวายยาว 1ฟุต ใช้สำหรับบรรจุเครื่องมือ ซ่อมแซมอุปกรณ์ชำรุดหรือปลดแก้เชือก ได้แก่ เขากวางแหลม มีดตอก และหวายถักเป็นเส้นเล็กๆ
พิธีกรรมในการคล้องช้าง
พิธีกรรมจะเริ่มที่ศาลปะกำหรือโรงปะกำ เพื่อแจ้งให้ผีปะกำหรือครูปะกำ ทราบว่าพวกของตนจะออกไปคล้องช้าง ขอความคุ้มครองดูแลรักษาให้แคล้วคลาดจากอันตราย และให้มีโชคลาภกลับมา ในพิธีจะมีครูบาใหญ่หรือหมอเฒ่าเป็นประธาน มีหมอสะดำอีก 3คน เป็นผู้ช่วย รวมเป็น 4 คน ทำพิธีกรรม ส่วนหมอช้างอื่นและญาติพี่น้องจะนั่งล้อมรอบอยู่ในพิธีนั้น หมอช้างที่จะเข้าทำพิธีเช่นผีปะกำ ต้องนุ่งโสร่งสีเขียวตองอ่อน ไม่สวมเสื้อ ถือผ้าขาวม้า 2 ผืน ผืนหนึ่งคาดเอว ผืนหนึ่งคล้องเฉลียงไหล่
เมื่อการเซ่นสรวงผีปะกำเสร็จสิ้นลงหมอเฒ่าจะยกหนังปะกำจากศาลปะกำ มาวางบนหลังช้างต่างๆโดยม้วนหนังปะกำเป็นวง 2 วง วางทับหนังรองหลังช้าง ผูกไม้งอหรืองกติดกับหนังปะกำ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว หมอเฒ่าทุกคนจะอำลาญาติพี่น้อง เพื่อออกเดินทางตามฤกษ์ยามที่หมอเฒ่ากำหนดไว้
พิธีเซ่นผีปะกำของชาวกูย
พิธีเซ่นผีปะกำเป็นประเพณีของชาวไทยกูย มีจุดประสงค์เพื่อบอกกล่าวหรือแจ้งให้ผีปะกำทราบก่อนออกคล้องช้าง อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีคือ “ปะกำ” ปะกำคือเชือกสำหรับคล้องช้างทำจากหนังโคหรือหนังควาย ชาวกูยมีความเชื่อว่าวิญญาณของปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์จะมาสิงอยู่ในเชือกปะกำ จึงถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูล เป็นสิ่งที่อาจบันดาลโชคดีหรือโชคร้ายเมื่อเวลาออกไป คล้องช้าง มีการสร้างร้านหรือโรงสำหรับเก็บปะกำและ เซ่นสรวงประจำ เพื่อความเป็นสิริมงคล โรงปะกำสร้างด้วยเสา 4 ต้น ยกเป็นร้านสูงจากพื้นประมาณ 2-3 เมตร มุงหลังคากันแดดฝน ทุกคนในครอบครัวให้ความเคารพนับถือห้ามมิให้ขึ้นไปเหยียบย่ำ การประกอบพิธีกรรม ประธานในการประกอบพิธีคือ หมอเฒ่า ซึ่งเป็นผู้อาวุโส และมีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ครูบา เป็นบุคคลอาวุโสรองลงมา ส่วนบุคคลที่มีความอาวุโสรองลงมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หมอสะดำ (ควาญช้างประจำข้างขวาช้าง) และหมอสะเดียง (ควาญช้างประจำข้างซ้ายช้าง) เสี่ยงทายด้วยคางไก่กับไข่ต้ม เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นแล้วก็ถึงเวลาประกอบพิธีกรรม