นิทรรศการเตาเผา (จำลอง) และเครื่องเคลือบบุรีรัมย์
เตาเผา (จำลอง) และเครื่องเคลือบบุรีรัมย์
อดีต เมื่อประมาณกว่าพันปี จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่เคลือบสีน้ำตาลดำ สีเขียวอมฟ้า ฯลฯ แหล่งใหญ่ที่สุดและมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอกระสัง อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย เท่าที่สำรวจพบขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 200 เตา สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกจากแหล่งเครื่องเคลือบบุรีรัมย์ มีทั้งที่เป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ตลอดจนสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและมีรูปแบบต่างๆ หลายรูปแบบ.
-
เตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์
เตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์
เตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเตาเผาที่ก่อด้วยดินดิบ เป็นแบบเตาระบายความร้อนในแนวนอนหรือเฉียงขึ้น (Cross draft Kiln) นิยมสร้างอยู่บนเนินดินธรรมชาติ
-
เครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์
เครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์
เครื่องเคลือบดินเผาจากเตา ซึ่งพบในอำเภอบ้านกรวดและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 – 19
-
บ้านกรวดกับสุโขทัย
บ้านกรวดกับสุโขทัย
สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งของเครื่องปั้นดินเผาบ้านกรวดกับของสุโขทัยเมื่อยังกำหนดอายุของเตาสุโขทัยลงไปแน่นอนไม่ได้
เตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์
เตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเตาเผาที่ก่อด้วยดินดิบ เป็นแบบเตาระบายความร้อนในแนวนอนหรือเฉียงขึ้น (Cross draft Kiln) นิยมสร้างอยู่บนเนินดินธรรมชาติ เทคนิคในการก่อสร้างจะใช้ดินเหนียวพอกทับลงบนโครงไม้ไผ่ที่สานขึ้นรูปไว้แล้ว จากนั้นจึงปล่อยไว้ให้แห้งหรือสุมไฟเผา เพื่อให้ดินแห้งยึดเกาะกัน ส่วนประกอบ ของเตาที่สำคัญมีดังนี้
- 1. ช่องใส่ไฟหรือช่องบรรจุเชื้อเพลิง (Fire Box) เป็นบริเวณสำหรับใส่เชื้อเพลิงให้ความร้อน อาจจะมีช่องเดียวหรือหลายช่องก็ได้ แต่ละช่องมีขนาดแตกต่างกันไป
- 2. ห้องบรรจุภาชนะ (Fireng Chamber) พื้นห้องจะทำเป็นมุมลาดเอียงประมาณ 15 องศา จากช่องใส่ไฟขึ้นไปทางปล่องระบายความร้อน ปูพื้นด้วยทรายเป็นขั้นบางๆ เพื่อยึดภาชนะไม่ให้ล้มในขณะทำการเผา
- 3. ผนังตา จะแบ่งพื้นที่ภายในห้องบรรจุภาชนะออกเป็นห้องๆ ตามแนวยาวของเตา ผนังเตานี้ นอกจากจะใช้แบ่งแยกประเภทและขนาดของเครื่องเคลือบที่จะใช้เผาแล้ว ยังช่วยเสริมความแข็งแรงของเตาได้อีกด้วย
- 4. เสา ก่อด้วยดินดิบ มีทั้งที่เป็นเสาสี่เหลี่ยมและเสากลม ทำหน้าที่รับน้ำหนักโครงสร้างบนหรือหลังคาไม่ให้พังทลาย
- 5. ปล่องระบายควันหรือปล่องไฟ (Chimney) เป็นร่องสำหรับระบายควันและเศษฝุ่นเถ้าถ่านไม่ให้หมุนวนอยู่ภายในเตา ซึ่งจะทำให้ภาชนะที่เผาสกปรกขาดความสวยงาม
สำหรับขนาดของเตาเผาจากการขุดค้นเตา นายเจียน ของกรมศิลปากร ถึงแม้เตาจะมีสภาพไม่สมบูรณ์ แต่ก็พอทำให้ทราบถึงขนาดของเตาเผา คือมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร ถือได้ว่าเป็นเตาเผาขนาดใหญ่ สามารถเผาเครื่องเคลือบได้ครั้งละหลายร้อยชิ้น
เครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์
ลักษณะของเครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์
เครื่องเคลือบดินเผาจากเตา ซึ่งพบในอำเภอบ้านกรวดและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 – 19 เครื่องเคลือบในแถบนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออาจทำโดยช่างจีนในระยะเริ่มแรก แต่ภายหลังก็พัฒนารูปแบบเป็นของตัวเอง เพื่อความเหมาะสมในการใช้สอยตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น
สีเคลือบจะออกเป็นสีน้ำตาล สีขาว สีขาวอมเขียวและสีน้ำแตงกวา ไม่มีการเขียนสีนอกเคลือบ แต่เขียนรูปขูดแต่งลวดลายภายในตัวภาชนะแล้วเคลือบทับ บางชิ้นมีการเคลือบสองสีในใบเดียวกัน
เครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์มีรูปแบบที่หลากหลาย และเพียงพอที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นภาชนะใส่น้ำ ใส่เหล้า ใส่ปลาร้า จะทำเป็นไหใหญ่ปากเล็ก มีคนโฑใส่น้ำสำหรับรับแขกหรือบริโภค ภาชนะใส่อาหารประเภทถ้วย ชาม ครก กระปุกใส่ปูน หมากพลู บุหรี่ ตลับเครื่องแป้ง ขวดน้ำมัน ตะเกียบ เครื่องก่อสร้าง เช่น กระเบื้องเชิงชาย บราลี เป็นต้น นี้แสดงให้เห็นว่าชาวบุรีรัมย์ในสมัยนั้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สูงมาก สามารถนำดินมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้รอบด้าน นอกจากทำได้ทำเป็นแล้วยังเน้นความสวยงาม เช่น ได้มีการเคลือบแต่งสีและรูปแบบแปลก ๆ เช่น เป็นรูปช้าง ม้า นก เป็นต้น
บ้านกรวดกับสุโขทัย
เครื่องเคลือบดินเผาจากเตา ซึ่งพบในอำเภอบ้านกรวดและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 – 19 เครื่องเคลือบในแถบนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออาจทำโดยช่างจีนในระยะเริ่มแรก แต่ภายหลังก็พัฒนารูปแบบเป็นของตัวเอง เพื่อความเหมาะสมในการใช้สอยตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นสิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งของเครื่องปั้นดินเผาบ้านกรวดกับของสุโขทัยเมื่อยังกำหนดอายุของเตาสุโขทัยลงไปแน่นอนไม่ได้ ถ้าสันนิษฐานว่าสร้างสมัยราชวงศ์หยวน คือระหว่าง พ.ศ. 1836–1911 คือศตวรรษที่ 19–20 โดยได้ช่างมาจากเมืองจีน ในขณะที่เครื่องปั้นดินเผาเคลือบชนิดเดียวกันมีแพร่หลายในบ้านกรวด ซึ่งส่วนหนึ่งเหมือนกันทั้งรูปแบบ สี และขนาด ในระหว่าง พ.ศ. 1432–1750 คือพุทธศตวรรษที่ 15–18 ห่างกันประมาณ 100–300 ปี ชนในท้องถิ่นนี้ไปมาหาสู่กันอย่างทั่วถึง จะเห็นได้จากพ่อขุนผาเมืองรับเอานาม– ยศ จากกษัตริย์เขมร ภาษาและหนังสือก็ใช้ร่วมกันอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นไปได้ว่าช่างก็ดี เทคนิคก็ดี เทคนิคก็ดี ในการทำเครื่องดินเผาของชาวสุโขทัยนำไปจากบ้านกรวดนี้เอง โดยผ่านทางเมืองโคราช เมืองศรีเทพ และเข้าสู่สุโขทัย
เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเคลือบ จังหวัดบุรีรัมย์
เครื่องถ้วยบุรีรัมย์
เครื่องถ้วยบุรีรัมย์ เป็นคำเรียกเครื่องปั้นดินเผาเคลือบและไม่เคลือบที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากแหล่งเตาเผาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันพบว่ามีแหล่งเตาเผาโบราณเกือบทุกอำเภอโดยมีแหล่งที่สำคัญคือ ที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย มีการผลิตทั้งเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบและเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีเขียนน้ำแตงกวา (เขียวใสมาก) และเคลือบสีน้ำตาลในทุกระดับสี คือ ตั้งแต่น้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลสีทอง น้ำตาลอมเขียว(สีมะกอก) และน้ำตาลดำ โดยผลติทั้งภาชนะใช้สอย เช่น ชาม ไห กระปุก เป็นต้น และเครื่องประดับอาคารสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้องมุงหลังคา และบราลี รวมทั้งนิยมทำรูปสัตว์ต่าง ๆ สำหรับภาชนะนั้นมีรูปทรงต่าง ๆ กัน แต่รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเตาบุรีรัมย์ คือ กระปุกรูปกลมแบน และไหเท้าช้า (ไหที่มีเชิงสูงตัน)
นอกจากนี้บางยุคจะนิยมการตกแต่งเป็นพิเศษนอกจากการเขียนลายด้วยวิธีขูด ขีด และปั้นติด ด้วยการเคลือบผสมสองสี คือ ส่วนตัวภาชนะเคลือบด้วยสีน้ำตาล และส่วนคอถึงขอบปาก เคลือบด้วยสีเขียวน้ำแตงกวา โดยมีเตาเผาที่ก่อด้วยดินซึ่งมีโครงเตาทำด้วยไม้ไผ่ และใช้กี๋รองภาชนะเวลาเข้าเผา เป็นรูปกระสุนดิน อันเป็นเทคนิคที่คล้ายกับเทคนิคของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง และสมัยห้าราชวงศ์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๕) เป็นอย่างมาก
จากการที่บุรีรัมย์ในสมัยโบราณ มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย จึงทำให้น่าคิดว่า เครื่องถ้วยเตาบุรีรัมย์ได้มีอิทธิพลต่อการให้รูปแบบแก่เครื่องถ้วยสังคโลกในรุ่นแรก ๆ และหลังฐานที่เด่นชัดถึงความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง คือ การพบเครื่องถ้วยสังคโลก ทั้งกระปุกและชามเคลือบสีเขียวไข่กา กับไหเคลือบสีน้ำตาลในแหล่งชุมชนโบราณของบุรีรัมย์ด้วย.
ชามเคลือบสีเขียวน้ำแตงกวา
จากแหล่งเตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖
ไหเคลือบสีน้ำตาล ประดับรูปหัวช้าง
จากแหล่งเตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗
ไหเท้าช้าง เคลือบสีน้ำตาล
จากแหล่งเตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗
กระปุกและตลับเคลือบสีเขียวน้ำแตงกวา
จากแหล่งเตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖
จังหวัดบุรีรัมย์เป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตอันยาวไกล ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นอย่างช้า และมีความเจริญสูงสุด ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ ทั้งมีความสัมพันธ์กับดินแดนที่ห่างไกลคือ อินเดียและจีน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหลักฐานทั้งด้านศาสนสถานและงานศิลปกรรม สำหรับความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง จะเห็นว่านอกจากดินแดนแห่งเมืองพระนคร (ขอม) แล้ว บุรีรัมย์ยังได้มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๘ และต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ก็อยู่ร่วมกับอาณาจักรศรีอยุธยา
จากการสำรวจพบว่า ในเรื่องความสัมพันธ์กับจีนนั้น น่าจะมีการติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะได้พบกระปุกเคลือบสีเขียวสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔) พบเครื่องถ้วยเคลือบสีขาว และเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา (เซลาดอน) จากมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวั่นตง และมณฑลเจ้อเจียง ในสมัยราชวศ์สุ้ง มณฑลเกียงซี และมณฑลฝูเจี้ยน สมัยราชวงศ์หมิง ตามแหล่งชุมชนโบราณและแห่งโบราณสถาน ด้วย
ตลับ เคลือบสีขาว
จีน ราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จากมณฑลฝูเจี้ยน
ตลับเคลือบสีขาว สำหรับใส่เครื่องหอมใช้ในพิธีกรรม
จีน ราชวงศ์สุ้ง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ จากฝูเจี้ยน
ขวดสีขาวลายดอกไม้
จีน ราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ จากเตาเผาในมณฑลฝูเจี้ยน
จานเคลือบสีเขียวลายกลีบบัว
จีน ราชวงศ์สุ้ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ จากมณฑลกว้างตุ้ง
กระปุกสองหู เคลือบสีเขียวใส
จีน ราชวงศ์ถัง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ จากมณฑลกว้างตุ้ง
โถเคลือบสีเขียวไข่กา
จีน ราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ จากเตาหลงฉวน มณฑลเจ้อเจียง
ขวดเคลือบสีขาว
จีน ราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๙ จากมณฑลฝูเจี้ยน
ตลับเคลือบสีขาว
จีน ราชวงศ์สุ้ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ จากเตาในมณฑลฝูเจี้ยน